13 ธันวาคม 2565

ขนมปัง แหล่งพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต เทียบเท่ากับการทานข้าวในประเทศไทย

สารบัญเนื้อหา

ในต่างประเทศ หรือในประเทศซีกโลกตะวันตก นิยมทานขนมปังเป็นแหล่งพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตหลัก เทียบเท่ากับการทานข้าวในประเทศไทย อีกทั้งขนมปังยังสามารถนำมาทานได้หลากหลายวิธี เช่น ทานขนมปังเปล่าๆ ทาเนย ทาแยมก่อนทาน นำมาผ่านการปิ้งการอบ หรือใส่ผักและซอสเพื่อเพิ่มความหลากหลายในการรับประทาน เป็นต้น ซึ่งในขนมปัง ก็ประกอบไปด้วย แป้งสาลี และน้ำเป็นหลัก โดยมีการผสมยีสต์ เพื่อให้แป้งฟูขึ้น

การแบ่งประเภทของขนมปัง

1. แบ่งตามชนิดส่วนผสมที่ให้ขึ้นฟู มี 2 ชนิด

  • ขนมปังที่ฟูขึ้นโดยอาศัยการผสมยีสต์ โดยขนมปังชนิดนี้ ใช้การผสมยีสต์เข้าไปเป็นตัวนำให้แป้งฟูขึ้นหลังผ่านการอบด้วยความร้อน ซึ่งในกระบวนการผลิตอาจจะมีการเพิ่มไส้ไปด้วยก็ได้ ตัวอย่างเช่น ขนมปังแถวหรือขนมปังปอนด์ ขนมปังแซนวิช ขนมปังมีไส้ต่างๆ (ไส้ลูกเกด, ไส้หมูแดง, ไส้ข้างโพด, ไส้ถั่วแดง และอื่นๆ อีกมากมายขึ้นอยู่กับความสร้างสรรค์ของผู้ผลิต)
  • ขนมปังที่ขึ้นฟูโดยอาศัยผงฟูหรือโซดา โดยขนมปังชนิดนี้จะมีลักษณะคล้ายขนมเค้ก เช่น ขนมปังกล้วยหอม ขนมปังฟักทอง เป็นต้น

2. แบ่งตามปริมาณของส่วนประกอบ มี 4 ชนิด

  • Hard Bread (ขนมปังผิวแข็ง) เป็นขนมปังที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลและไขมันต่ำ คือ มีปริมาณน้ำตาล 0-2% ของน้ำหนักแป้ง และไขมัน 0–3% ของน้ำหนักแป้ง โดยเมื่ออบสำเร็จจะมีลักษณะแห้ง เปลือกแข็ง เช่น ขนมปังขาไก่ เป็นต้น
  • Loaf Bread (ขนมปังจืด) เป็นขนมปังที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลและไขมันเพิ่มขึ้นมาจากขนมปังผิวแข็ง ซึ่งในกระบวนการผลิตมีปริมาณน้ำตาล 4–8% ของน้ำหนักแป้ง และไขมัน 3–6% ของน้ำหนักแป้ง ตัวอย่างของขนมปังประเภทนี้คือ ขนมปังแซนด์วิช ขนมปังกะโหลก เป็นต้น
  • Soft Bun (ขนมปังกึ่งหวาน) เป็นขนมปังที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลและไขมันระดับปานกลางคือ มีปริมาณน้ำตาล 10–14% ของน้ำหนักแป้ง และมีปริมาณไขมัน 8–12% ของน้ำหนักแป้ง หลังจากขนมปังผ่านการอบด้วยความร้อนแล้วเนื้อขนมจะมีลักษณะนุ่ม ในกระบวนการผลิตมักนิยมทำเป็นรูปทรงกลมมีไส้ เช่น ขนมปังไส้สังขยา ขนมปังแฮม ขนมปังไส้ข้าวโพด เป็นต้น
  • Sweet Dough (ขนมปังหวาน) เป็นขนมปังที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลและไขมันสูง คือ มีปริมาณน้ำตาล 16–22%ของน้ำหนักแป้ง และไขมัน 12–24% ของน้ำหนักแป้ง หลังจากผ่านกระบวนการอบด้วยความร้อนมาแล้ว เนื้อขนมปังจะมีรสหวาน เช่น ขนมปังไส้เนยสด ขนมปังมะพร้าว เป็นต้น

ขนมปังมีหลายประเภท และผ่านกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็เหมาะกับการนำมาทำขนมที่ต่างกันตามประเภทของขนมปังด้วย