16 ธันวาคม 2565

น้ำ (Water) ไม่มีรส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น สารจำเป็นต่อร่างกายของมนุษย์ รองลงมาจากอากาศ

สารบัญเนื้อหา

น้ำ (Water) คือสารประกอบที่มีองค์ประกอบหลักเป็นธาตุไฮโดรเจนและออกซิเจน (H2O) ไม่มีรส ไม่มีสี และกลิ่น ถือเป็นสารที่จำเป็นต่อร่างกายของมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยมีความสำคัญรองลงมาจากอากาศ เพราะถ้าหากร่างกายขาดน้ำติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 วัน ก็อาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น ในแต่ละวันจึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ร่างกายยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป

ในร่างกายของมนุษย์ มีน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งมีปริมาณมากถึงร้อยละ 60 ของน้ำหนักตัว โดยในเด็กทารกแรกเกิดนั้น มีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ประมาณร้อยละ 75-80 ของน้ำหนักตัว

ประโยชน์ของน้ำที่มีต่อร่างกาย

น้ำจัดเป็นสารที่ทำหน้าที่ได้อย่างหลากหลายภายในร่างกายของมนุษย์ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ความสดชื่นเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์มากมายที่ร่างกายจะได้รับ โดยประโยชน์เหล่านั้นก็มีดังนี้

1. บำรุงผิวหนังให้ชุ่มชื้น เปล่งปลั่งสดใส

น้ำเป็นตัวช่วยที่ดีที่จะช่วยบำรุงผิวหนังให้ชุ่มชื้น กระชับยืดหยุ่นและมีความเปล่งปลั่งสดใส หากดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ผิวพรรณจะแลดูสุขภาพดี ไม่แห้งกร้าน และยังอ่อนเยาว์ ไม่มีริ้วรอยเหี่ยวย่นง่าย

2. ช่วยให้ระบบเผาผลาญทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

น้ำช่วยกระตุ้นระบบการเผาผลาญในร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากร่างกายขาดน้ำไป กระบวนการเผาผลาญก็อาจจะทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ เพราะการเผาผลาญในแต่ละครั้งจำเป็นต้องมีน้ำเข้ามาเป็นส่วนประกอบด้วย

3. ช่วยลำเลียงสารอาหารไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ

สารอาหารทุกชนิดที่เข้าสู่ร่างกาย จำเป็นต้องผ่านกระบวนการละลายน้ำ เพื่อให้สามารถลำเลียงไปหล่อเลี้ยงอวัยะส่วนต่างๆ ได้

4. ช่วยขับเสียออกจากร่างกาย

น้ำเป็นตัวช่วยในการขับของเสียออกจากร่างกาย ให้ออกมาอยู่ในรูปแบบปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลาย หรือเหงื่อ

5. ช่วยในการสะสมอาหาร

น้ำมีส่วนในการสะสมอาหารของร่างกาย โดยเฉพาะสารช่วยอาหารจำพวก ไขมัน และโปรตีน

6. ช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกาย

น้ำมีส่วนช่วยให้การคงที่อุณหภูมิของร่างกายเป็นไปอย่างเหมาะสม จึงสามารถใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศที่แตกต่างกันได้

องค์ประกอบของน้ำในร่างกาย

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าน้ำ เป็นส่วนประกอบหลักที่พบได้มากที่สุดในร่างกายของมนุษย์ จึงส่งผลให้ตามบริเวณเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย มักจะพบน้ำกระจายอยู่หลายตำแหน่ง โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน

  1. น้ำที่อยู่ภายในเซลล์ ซึ่งพบได้ในเซลล์ทุกเซลล์ โดยหน้าที่สำคัญในการละลายสารเคมีต่างๆ และช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพของกระบวนการเมทาบอลิซึมให้กับร่างกายได้เป็นอย่างดี โดยน้ำที่อยู่ภายในเซลล์นั้น มีปริมาณร้อยละ 38 ของน้ำหนักตัวทั้งหมด
  2. น้ำที่อยู่ภายนอกเซลล์ พบได้ในปริมาณร้อยละ 22 ของน้ำหนักตัวทั้งหมด โดยสามารถแบ่งย่อยได้เป็นอีก 2 ประเภทเล็กๆ คือ น้ำที่อยู่ในกระแสเลือด ที่ผ่านเข้าไปยังเลือดตามหลักการออสโมซิส และน้ำที่อยู่ระหว่างเซลล์ ซึ่งทำหน้าที่ในการส่งสารต่างๆ ระหว่างเซลล์และกระแสเลือด โดยส่วนใหญ่จะพบอยู่บริเวณช่องโพรงของอวัยวะ เช่น น้ำเหลือง, น้ำในไขสันหลัง เป็นต้น

ปริมาณที่เหมาะสมของน้ำในร่างกายมนุษย์

ร่างกายของคนเรา มีความแตกต่างกันโดยโครงสร้างและปัจจัยแวดล้อม จึงก่อให้เกิดความต้องการปริมาณน้ำที่แตกต่างกัน โดยจำเป็นต้องประเมินจากสภาพดิน ฟ้า อากาศ ชนิดของอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน รวมไปถึงสภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย เช่น ผู้ที่ทำงานอยู่ท่ามกลางสภาพแดดจัด เหงื่อออกมาก จำเป็นที่จะต้องได้รับปริมาณน้ำมากกว่าบุคคลทั่วไป หรือผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่สบายจากโรคไข้หวัด, ท้องเสีย, ท้องร่วง ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับน้ำในปริมาณมากกว่า โดยปกติแล้ว ร่างกายต้องการน้ำ 1 ลบ.ซม./1 แคลอรี่ของอาหารที่รับประทาน หรือประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน

อวัยวะที่ทำหน้าที่ในการขับน้ำออกจากร่างกาย

น้ำส่วนเกินที่ร่างกายไม่ต้องการ จะถูกขับออกมาผ่านอวัยวะ ดังนี้

ไต

เนื่องจากไตจะทำหน้าที่ในการแยกและคัดกรองของเสียที่ไม่จำเป็นออกจากร่างกาย จากนั้นจะนำเอาสารอาหารที่มีความจำเป็นกลับเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ นอกจากนี้ ไตยังช่วยควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายให้เกิดความเหมาะสม ทำให้เกิดการขับน้ำส่วนเกินออกในรูปแบบของปัสสาวะ ซึ่งมีไตเป็นอวัยวะหลักในการขับของเสียเหล่านั้นออกมา

ปอด

ปอดเป็นอวัยะที่จะช่วยให้ร่างกายระเหยน้ำออกมาผ่านรูปแบบการหายใจ โดยเฉลี่ยแล้ววันละ 300 – 400 กรัม ส่งผลให้ผู้ที่ทำกิจกรรมใช้แรงประเภทต่างๆ และมีการหายใจที่ถี่ผิดปกติ เช่น ผู้ออกกำลังกายกลางแจ้ง ผู้ที่เป็นไข้หวัด จะมีอัตราการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายมากกว่าคนปกติทั่วไป

ผิวหนัง

ในแต่ละวัน ร่างกายจะสูญเสียเหงื่อประมาณ 500 มิลลิกรัม จากการทำกิจกรรมประเภทต่างๆ โดยเหงื่อที่ถูกขับออกมาทางผิวหนังนั้นเป็นตัวช่วยที่ดีในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่

ระบบทางเดินอาหาร

น้ำจะถูกหลั่งออกมาในรูปของน้ำย่อย ซึ่งปริมาณที่ขับออกมานั้นก็ขึ้นอยู่ปริมาณของอาหารที่รับประทานเข้าไป

ผลกระทบเมื่อร่างกายขาดน้ำหรือดื่มน้ำมากเกินไป?

หากร่างกายขาดน้ำเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน จะก่อให้เกิดอาการกระหายน้ำ อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง และทำงานได้น้อยลง ทนต่อสภาพอากาศได้ลำบากมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนผู้ที่ดื่มน้ำมากเกินไป ร่างกายก็อาจจะดูดซึมน้ำเข้าสู่กระแสเลือดไม่ทัน ทำให้หัวใจงานหนักกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอาการบวมน้ำ ปวดหัว กระสับกระส่าย ชัก และอาจหมดสติได้

จะเห็นได้ว่าน้ำถือเป็นสารที่จำเป็นต่อร่างกาย และต้องได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่พอเพียง ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป โดยนอกจากจะดื่มน้ำให้ได้จำนวนที่พอเหมาะในแต่ละวันแล้ว ก็ควรหมั่นรับประทานผัก และผลไม้ที่มีส่วนประกอบของน้ำด้วยเช่นกัน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ครบถ้วนมากขึ้น

บทความแนะนำ