15 ธันวาคม 2565

วิตามินบี (Vitamin B) ส่วนสำคัญในกระบวนการเผาผลาญ สร้างกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงของกระดูก

สารบัญเนื้อหา

วิตามินบี (Vitamin B) เป็นกลุ่มของวิตามินที่สามารถละลายได้ในสารละลายที่ขั้ว ได้แก่ น้ำและแอลกอฮอล์ จัดเป็นวิตามินที่มีส่วนช่วยสำคัญในกระบวนการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายเพื่อให้เกิดพลังงาน เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงของกระดูก สร้างเซลล์เม็ดเลือดให้สมบูรณ์และบำรุงระบบประสาทให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเภทของวิตามินบี

วิตามินบี สามารถแบ่งออกได้เป็น 8 ประเภท ดังนี้

วิตามินบี 1

วิตามินบี 1 หรือไทอามีน (Thiamine) มีส่วนช่วยเสริมสร้างและทำลายคาร์โบไฮเดรตภายในร่างกาย อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาทด้านความรู้สึก หากร่างกายขาดวิตามินบี 1 ก็จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย รู้สึกไม่สดชื่น เป็นเหน็บชาง่าย และเกิดความบกพร่องในระบบย่อยอาหาร โดยแหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 1 ได้แก่ ไข่ ถั่ว ยีสต์ เนื้อสัตว์ ตับ และข้าวซ้อมมือ

วิตามินบี 2

วิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน (Riboflavin) พบได้มากในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ข้าว ธัญพืช เครื่องในสัตว์ ผักใบเขียว ข้าวโอ๊ต ไข่ นม และผลิตภัณฑ์จากนม โดยมีส่วนช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของเส้นผม ผิวหนัง และเล็บ มีสารต้านอนุมูลอิสระในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังสามารถป้องกันโรคปากนกกระจอกได้

วิตามินบี 3

วิตามินบี 3 หรือไนอาซิน (Niacin) มีประโยชน์อย่างมาก สำหรับผู้ที่อดนอนเป็นเวลานาน เพราะเมื่อรับประทานแล้ว จะช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูตัวเองได้อย่างรวดเร็ว เกิดความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ช่วยให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังช่วยลดสาเหตุของการเกิดสิวอักเสบอันเนื่องมาจากการอดนอนได้เป็นอย่างดี พบได้มากในอาหารจำพวกอกไก่ เห็ด ถั่วลิสง ปลาทูน่า เนื้อวัว หน่อไม้ฝรั่ง และตับ เป็นต้น

วิตามินบี 5

วิตามินบี 5 หรือแพนโทเทนิค (Pantothenic) มีประโยชน์ต่อการสังเคราะห์กรดไขมันในร่างกาย โดยทำงานร่วมกับหายใจของเซลล์ ทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายมีความสมบูรณ์มากขึ้น หากร่างกายขาดวิตามินบี 5 ก็จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ผิวหนังแห้งกร้าน หรืออักเสบง่ายหากโดนแดงแดด นอกจากนี้ ยังมีผลต่อด้านอารมณ์ โดยจะก่อให้เกิดความคุ้มคลั่ง ควบคุมอารมณ์ได้อย่างยากลำบาก วิตามินบี 5 พบมากในอาหารจำพวกยีสต์ เนื้อสัตว์ ใบยอ ข้าวซ้อมมือ ผักสด และถั่ว

วิตามินบี 6

วิตามินบี 6 หรือไพริดอกซีน (Pyridoxine) พบได้มากในเนื้อสัตว์ ผักใบเขียว ถั่ว ข้าวโพด และตับ โดยมีส่วนช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรงมากขึ้น หากขาดวิตามินชนิดนี้เป็นเวลานานก็จะทำให้ผิวหนังบวม ผมร่วง ปวดตามมือหรืออวัยวะส่วนต่างๆ โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันไม่ควรบริโภคเกิน 100 มิลลิกรัม

วิตามินบี 7

วิตามินบี 7 หรือไบโอทิน (Biotin) พบได้มากในถั่ว กล้วย ปลาแซลมอน ไข่ ตับ ดอกกะหล่ำและงา มีส่วนช่วยเสริมสร้างการทำงานของร่างกายให้มีประสิทธิภาพ ทั้งทางด้านสติปัญญาและอารมณ์ ทำให้ร่างกายดูสดใส ไม่อ่อนเพลียแม้จะต้องทำงานหนัก เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องทำกิจกรรมแบบหามรุ่งหามค่ำ เพราะจะช่วยสร้างความกระปรี้กระเปร่า และป้องกันความเสื่อมสภาพของร่างกายได้เป็นอย่างดี

วิตามินบี 9

วิตามินบี 9 หรือโฟเลท (Folate) เป็นวิตามินที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง เหมาะสำหรับคุณแม่ที่กำลังอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ เพราะมีส่วนช่วยลดอาการซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ได้ อีกทั้งยังช่วยในเรื่องความจำ เสริมสร้างการทำงานของสมองและระบบประสาทของทารกในครรภ์ ดีต่อสุขภาพของทั้งแม่และลูกน้อย พบมากในผักใบเขียว เช่น คะน้า บร็อคโคลี่ กวางตุ้ง และผักบุ้ง

วิตามินบี 12

วิตามินบี 12 หรือโคบาลามิน (Cobalamin) ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาท และเสริมสร้างจำนวนเม็ดเลือดแดง พบมากในโยเกิร์ต นม เนย ไข่แดง หากรับประทานไม่เพียงพอ หรือขาดวิตามินชนิดนี้เป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้

วิตามินบีที่จำเป็นต่อร่างกายทั้งหมดนี้ พบได้ง่ายในอาหารทุกชนิดที่รับประทานเข้าไปในแต่ละวัน โดยเฉพาะอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ข้าว ไข่ ผลไม้ และผัก ทั้งนี้เพื่อให้ได้สารอาหารที่มีความประโยชน์ต่อร่างกายอย่างครบถ้วน ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสะอาดสดใหม่ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินบีอย่างเหมาะสมและครบถ้วนเพียงพอต่อการบำรุงสุขภาพให้แข็งแรงต่อไป

บทความแนะนำ