วิตามินดี (Vitamin D) คือวิตามินที่สามารถละลายได้ในไขมัน และมีความจำเป็นต่อร่างกายอย่างมาก โดยรูปแบบของวิตามินดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกายนั้นมีด้วยกัน 2 ประเภทคือ วิตามินดี 2 หรือ เออโกแคลซิเฟอรอล (Ergocalciferol) ที่สามารถพบได้ในพืช และวิตามินดี 3 หรือ โคเลแคลซิเฟอรอล (Chloecalciferol) ที่ร่างกายจะได้รับการจากสังเคราะห์บริเวณผิวหนังเมื่อโดนแสงอ่อนๆ ซึ่งวิตามินดีทั้ง 2 ประเภทนี้ล้วนมีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสภายในร่างกาย จำเป็นต่อการพัฒนาการของเด็ก อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูกและฟันได้เป็นอย่างดี
การรับวิตามินเข้าสู่ร่างกาย
ร่างกายของมนุษย์สามารถรับวิตามินดีได้ 2 ทาง ดังต่อไปนี้
1. อาหาร
วิตามินดีมีมากในอาหารจำพวกปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาทู และปลาทูน่า นอกจากนี้ ในต่างประเทศยังนิยมผสมวิตามินดีลงในนม น้ำส้ม โยเกิร์ต หรือธัญพืช และซีเรียส เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหารอีกด้วย
2. แสงแดด
นอกจากการรับประทานอาหารแล้ว ร่างกายยังสามารถรับวิตามินดีได้จากการสัมผัสแสงแดด โดยการที่จะได้วิตามินดีที่เพียงพอจากแสงแดดนั้น ควรให้ผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาทีทุกวัน ด้วยการใส่เสื้อแขนสั้นหรือกางเกงขาสั้น ซึ่งวิตามินดีที่ได้จะสังเคราะห์บริเวณผิวหนังชั้นนอกสุด หรือผิวชั้นหนังกำพร้า

แสงแดดสร้างวิตามินดีให้กับมนุษย์ได้อย่างไร?
กระบวนการสร้างวิตามินดีของแสงแดดต่อผิวหนังมนุษย์ เกิดจากการที่ผิวหนังสัมผัสแสงแดดในระยะเวลาที่เหมาะสม จากนั้นจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างแสงแดดและสารตั้งต้น วิตามินดีก็จะเกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง แล้วจึงกระจายไปยังเส้นเลือดฝอยใต้ผิวเพื่อไปจับกับโปรตีนเข้าสู่เส้นเลือด ก่อนจะไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ เช่น ลำไส้ ตับ ไต กระดูก เพื่อดูดซึมแคลเซียมทำให้กระดูกแข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดยการสร้างวิตามินดีจากแสงแดดของผิวหนังแต่ละคนนั้น ไม่ได้เท่ากันเสมอไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น ปริมาณของแสงแดดที่ได้รับ เสื้อผ้าที่ใส่ ฤดูกาล รวมไปถึงสีผิวของแต่ละบุคคล
สาเหตุของการที่ร่างกายขาดวิตามินดี
สาเหตุที่ร่างกายขาดวิตามินดี มีหลายปัจจัยดังต่อไปนี้
ได้รับวิตามินดีจากอาหารไม่เพียงพอ
การรับประทานมังสวิรัติ หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อปลา จะทำให้เกิดภาวะขาดวิตามินในปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายอาจจะเกิดผลข้างเคียงหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องความแข็งแรงของกระดูก
ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ
ผู้ที่มักจะอาศัยอยู่แต่ในบ้าน หรือในที่ร่ม จะขาดการสังเคราะห์วิตามินดีบนผิวหนัง รวมไปถึงผู้ที่ใช้ครีมกันแดดเป็นประจำ กลุ่มคนเหล่านี้จะเกิดกระบวนการสังเคราะห์วิตามินดีจากแสงแดดสู่ผิวหนังที่ลดน้อยลง
การดูดซึมวิตามินดีในทางเดินอาหารบกพร่อง
การดูดซึมวิตามินในทางเดินอาหารบกพร่อง สืบเนื่องมาจากตัวโรคบางชนิดที่ส่งผลให้การดูดซึมวิตามินดีลดลง รวมไปถึงการผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ซึ่งมีส่วนทำให้การดูดซึมวิตามินดีทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร
การรับประทานยาบางชนิด
การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากันชัก ยารักษาวัณโรคบางขนาน หรือยาขยายหลอดลม เป็นปัจจัยที่ทำให้ร่างกายแปรสภาพวิตามินดีให้อยู่ในรูปแบบที่ออกฤทธิ์น้อยลง
ปริมาณวิตามินดีที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
ร่างกายของมนุษย์มีความจำเป็นในการได้รับวิตามินดีในปริมาณที่แตกต่างกัน แล้วแต่ช่วงวัย ดังนี้
- อายุต่ำกว่า 12 เดือน ควรได้รับวิตามินดีวันละ 10 ไมโครกรัม
- อายุต่ำกว่า 70 ปี ควรได้รับวิตามินดีวันละ 15 ไมโครกรัม
- อายุมากกว่า 70 ปี ควรได้รับวิตามินดีวันละ 20 ไมโครกรัม
- สตรีที่วางแผนตั้งครรภ์ ควรได้รับวิตามินดีวันละ 10 ไมโครกรัม
- สตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง ควรได้รับวิตามินดีวันละ 50-100 ไมโครกรัม
- ทารกที่ดื่มนมแม่และมีความเสี่ยงขาดวิตามินดี ควรได้รับวิตามินดีวันละ 10-50 ไมโครกรัม
จะเห็นได้ว่าภาวะร่างกายขาดวิตามินดี จะส่งผลให้การดูดซึมแคลเซียมบริเวณทางเดินอาหารลดลง เป็นเหตุให้กระดูกมีความเสี่ยงในการแตกหักจากการลื่นหรือหกล้มได้ เพราะมวลกระดูกลดลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังเป็นเหตุให้มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา เช่น ระดับแคลเซียม และฟอสฟอรัสต่ำลง เกิดภาวะโรคกระดูกอ่อนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ฯลฯ ดังนั้น เพื่อเลี่ยงปัญหาสุขภาพดังกล่าวก็ควรหันมารับวิตามินดีให้เพียงพอจะดีที่สุด