14 ธันวาคม 2565

แร่ธาตุ (Mineral) สารประกอบอนินทรีย์ ส่งเสริมการทำงานของอวัยวะ ป้องกันการเกิดโรคร้าย

สารบัญเนื้อหา

แร่ธาตุ (Mineral) คือแร่หรือสารประกอบอนินทรีย์ที่มีบทบาทสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต โดยจัดเป็น 1 ใน 5 ของสารอาหารที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ หรือที่เราเรียกกันว่า “อาหารหลัก 5 หมู่” เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ซึ่งสามารถยับยั้งการเกิดโรคบางชนิดได้

แร่ธาตุยังมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญต่อร่างกายอีกหลายประการ ทั้งการทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของร่างกายในส่วนกระดูก ฟัน และเลือด มีส่วนช่วยในกระบวนการเจริญเติบโต ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อในทุกอวัยวะของร่างกายให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เช่น ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ช่วยควบคุมการแข็งตัวของเลือดหรือบาดแผล ควบคุมสมดุลของน้ำสำหรับการไหลเวียนของของเหลวภายในร่างกาย

ประเภทของแร่ธาตุ

แร่ธาตุสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ แร่ธาตุหลัก และแร่ธาตุรอง โดยมีหน้าที่ในการทำงานแตกต่างกัน ดังนี้

1. แร่ธาตุหลัก

แร่ธาตุหลัก (Macro Minerals) คือแร่ธาตุที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน ซึ่งในหนึ่งวันนั้นแร่ธาตุหลักที่ร่างกายควรได้รับต้องมีอย่างน้อย 100 มิลลิกรัม ได้แก่ แคลเซียม, ฟอสฟอรัส, แมกนีเซียม, โซเดียม, โพแทสเซียม, กำมะถัน, คลอไรด์ โดยร่างกายของคนส่วนใหญ่จะมีปริมาณแคลเซียมมากที่สุด รองลงมาก็คือ ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม โพแทสเซียมและโซเดียม

2. แร่ธาตุรอง

แร่ธาตุรอง (Trace Minerals) คือแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อยกว่าแร่ธาตุหลัก โดยควรได้รับต่อวันน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม เช่น เหล็ก, สังกะสี, แมงกานีส, ทองแดง, ไอโอดีน, โครเมียม, ซิลิเนียม, โมลิบดินัม, ฟลูออไรด์, วานาเดียม และโคบอลท์ และถึงแม้ว่าร่างกายจะต้องการน้อยกว่าแร่ธาตุหลัก แต่ก็ใช่ว่าแร่ธาตุรองจะไม่มีความสำคัญต่อร่างกาย เพราะแร่ธาตุเหล่านี้ถือว่ามีส่วนช่วยเสริมสร้างร่างกายให้ทำงานได้สมบูรณ์ด้วยเช่นกัน

ผักโขม ธาตุเหล็กสูง
ผักโขม ธาตุเหล็กสูง

แร่ธาตุที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับในแต่ละวัน

แม้ว่าจะมีแร่ธาตุมากมายที่ร่างกายควรได้รับ แต่บางชนิด ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับทุกวัน โดยมีแร่ธาตุเพียง 7 ชนิดเท่านั้น ที่ Recommended Dietary Allowance หรือ RDA เน้นย้ำว่าควรบริโภคให้เพียงพอในแต่ละวัน เพราะจะสามารถช่วยรักษาสภาพและควบคุมการทำงานในส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เป็นปกติได้เป็นอย่างดี ซึ่งประกอบไปด้วยแร่ธาตุ ดังนี้

1. แคลเซียม

แคลเซียมเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายควรมีในปริมาณที่พอเพียง เพื่อบำรุงความแข็งแรง และเสริมสร้างความแน่นหนาให้กับกระดูกและฟัน อีกทั้งยังช่วยควบคุมการทำงานของหัวใจ ระบบประสาท และการแข็งตัวของเลือด โดยพบได้ในอาหารจำพวก นม, ถั่วเหลือง, ไข่, เนื้อสัตว์ เช่นเนื้อปลา หรือสัตว์ที่มีขนาดเล็ก รวมไปถึงผักใบเขียวบางชนิด เช่น กวางตุ้ง คะน้า

2. ไอโอดีน

ไอโอดีนเป็นแร่ธาตุที่ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮอร์โมนไทร็อกซินที่อยู่ภายในต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่ช่วยป้องกันโรคคอหอยพอก พบได้ในเกลือประเภทเสริมไอโอดีน อาหารทะเลทุกชนิด และเกลือสมุทร

3. ฟอสฟอรัส

ฟอสฟอรัสเป็นส่วนประกอบสำคัญในการบำรุงให้ฟันและกระดูกแข็งแรง และยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างการผลิตเอนไซม์ที่มีโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต โดยทำหน้าที่บำรุงเซลล์สมองและเซลล์ประสาทให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ป้องกันโรคเกี่ยวกับความจำ พบได้ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ นม ไข่ เนื้อปลา หรือสัตว์น้ำที่กินได้ทั้งเปลือก รวมถึงผักใบเขียวชนิดต่างๆ

4. แมกนีเซียม

แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีส่วนช่วยในการเผาผลาญไขมัน ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ช่วยให้หลอดเลือดและหัวใจแข็งแรง อีกทั้งยังสามารถป้องกันอัตราการเกิดโรคหัวใจวายเฉียบพลัน และโรคความดันโลหิตได้ โดยพบได้ในอาหารจำพวก ผักใบสีเขียวเข้ม, ข้ามกล้อง, อัลมอนด์, ข้าวสาลี, ข้าวบาร์เลย์, ถั่วลิสง, ธัญพืช, เมล็ดมะม่วงหิมพานต์, มะเดื่อฝรั่ง, งาและจมูกข้าวสาลี เป็นต้น

5. เหล็ก

ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญในเม็ดเลือดแดง และยังเป็นส่วนประกอบในเอนไซม์ซึ่งทำหน้าที่ในการหายใจ โดยพบได้ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ผักใบสีเขียว ฯลฯ

6. ซีลิเนียม

ซีลิเนียมพบได้ในอาหารทะเล เนื้อสัตว์ ตับ และไต มีส่วนช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย ประสานการทำงานของเอนไซม์ระหว่างวิตามินซี, วิตามินเอและวิตามินดี

7. สังกะสี

สังกะสีทำหน้าที่ควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อ ควบคุมการทำงานของสมอง โดยพบได้ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ อาหารทะเล หอยนางรม ยีสต์ นมผงปราศจากไขมัน ฯลฯ

แร่ธาตุถือเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย แม้จะมีความเล็กจิ๋วกว่าสารอาหารอื่นๆ ทั่วไป แต่ก็มีประโยชน์ช่วยเสริมสร้างกระบวนการทำงานของร่างกายต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จึงจำเป็นที่ร่างกายจะต้องได้รับในปริมาณที่พอเพียงในแต่ละวัน

บทความแนะนำ