14 ธันวาคม 2565

อาหารหลัก 5 หมู่ ปัจจัยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีอย่างยาวนาน ตามหลักโภชนาการไทย

สารบัญเนื้อหา

อาหารหลัก 5 หมู่ คือสารอาหารที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน โดยเป็นสารอาหารที่ร่างกายสามารถดูดซึมและนำมาใช้ในกระบวนการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังช่วยให้ร่างกายมีพลังงานในการทำกิจกรรมระหว่างวันอย่างกระฉับกระเฉง ที่สำคัญยังช่วยป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ได้

อาหารหลัก 5 หมู่ แบ่งได้กี่ประเภท อะไรบ้าง

การเลือกรับประทานอาหารให้ครบถ้วน 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมเพียงพอนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีได้อย่างยาวนาน และยังทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ โดยตามหลักโภชนาการแล้ว อาหารหลัก 5 หมู่ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทหลัก ดังนี้

อาหารหมู่ที่ 1 โปรตีน

โปรตีน เป็นหนึ่งในสารอาหารที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ เพราะมีส่วนช่วยในการทำงานของสมอง เสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย ซ่อมแซมและฟื้นฟูส่วนที่สึกหรอ อีกทั้งยังเหมาะสำหรับการรับประทานเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อในกลุ่มผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยโปรตีนนั้นสามารถพบได้มากในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ เมล็ดธัญพืช ถั่วเหลืองและถั่วทุนิด แม้กระทั่งในจุลินทรีย์บางชนิด ตลอดจนยีสต์สาหร่ายก็เป็นแหล่งของโปรตีนที่ดีได้ด้วยเช่นกัน

การรับประทานโปรตีนที่เหมาะสม ควรเลือกปริมาณที่พอเหมาะกับร่างกาย และเลือกส่วนที่มีไขมันน้อยเพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของไขมันที่มากเกินไป หากร่างกายได้รับโปรตีนชนิดไม่ดีที่มีไขมันสูงมาก อย่างเช่นหนังไก่ หรือไขมันจากเนื้อสัตว์ก็จะทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มระดับสูงขึ้นได้ กลายเป็นสาเหตุของโรคร้ายต่างๆ ทั้งนี้ไข่ไก่ ถือเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีที่สุด และหารับประทานได้ง่ายมากที่สุด โดยเลซิตินในไข่ไก่มีประโยชน์ต่อสมองเป็นอย่างมากดังนั้น จึงควรรับประทานไข่ไก่อย่างน้อยวันละ 1 ฟอง สำหรับเด็กและหญิงมีครรภ์ควรรับประทานอย่างน้อยวันละ 1-2 ฟอง เพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีนและสารอาหารจากไข่ไก่ในปริมาณที่เพียงพอต่อวัน

อาหารหมู่ที่ 2 คาร์โบไฮเดรต

คาร์โบไฮเดรต คือสารอาหารที่ได้จากแป้งและธัญพืชทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้าว ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว เผือก มัน โดยทำหน้าที่เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานต่อร่างกายเป็นหลัก ซึ่งอาจจะมีแคลเซียมและวิตามินบี เข้ามาเป็นส่วนประกอบหลักของสารอาหารที่ได้ ซึ่งในธัญพืชประเภทต่างๆ นั้น นอกจากจะมีคาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารหลักแล้ว ยังมีเส้นใยอาหารที่ช่วยเสริมสร้างระบบการย่อยอาหารและขับถ่ายให้เป็นไปได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น โดยคาร์โบไฮเดรตเป็นสารอารที่เหมาะสำหรับการรับประทานเพื่อเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย ทำให้ร่างกายมีเรี่ยวแรง และมีพละกำลังในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ นับว่าจำเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานกรรมกร ผู้ใช้แรงงาน หรือผู้ที่ต้องออกกำลังกาย

อาหารหมู่ที่ 3 แร่ธาตุ เกลือแร่

แร่ธาตุ และเกลือแร่ เป็นสารอาหารจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถขาดได้ เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นกระดูก เลือด ฟัน โดยแร่ธาตุและเกลือแร่บางชนิดนั้น มีส่วนช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยให้ฮอร์โมนทุกชนิดทำงานได้อย่างสมบูรณ์ และยังช่วยควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ หากขาดแร่ธาตุหรือเกลือแร่ในปริมาณที่เพียงพอ ก็จะส่งผลให้การทำงานของอวัยวะเป็นไปได้อย่างไม่เต็มที่ซึ่งจะทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย โดยแร่ธาตุและเกลือแร่นั้น สามารถพบได้มากในเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่, ผัก และผลไม้ทุกชนิด

อาหารหมู่ที่ 4 วิตามิน

วิตามิน พบได้มากในผักและผลไม้หลากหลายชนิด ซึ่งในผักและผลไม้ นอกจากจะมีวิตามินเป็นส่วนประกอบหลักแล้ว ยังอุดมไปด้วยน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตด้วยเช่นกัน การรับประทานผักและผลไม้ในปริมาณที่เพียงพอจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายในแต่ละวันเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างสมบูรณ์แล้ว วิตามินที่ได้จากผัก ผลไม้ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะและระบบภายในต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงควรรับประทานผักผลไม้ 3-5 ส่วนต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีคุณประโยชน์สูงสุดในสัดส่วนที่เพียงพอต่อการใช้งาน

อาหารหมู่ที่ 5 ไขมัน

ไขมัน ที่ร่างกายควรได้รับนั้นต้องเป็นไขมันดีที่ได้จากปลาทะเลน้ำลึก เพราะไขมันจากสัตว์เหล่านี้ จะช่วยให้ร่างกายได้รับสาร DHA หรือโอเมก้า 3 ที่มีส่วนช่วยบำรุงสมอง เสริมสร้างการเจริญเติบโต หากร่างกายได้รับไขมันชนิดไม่ดีมากเกินไป ก็จะเสี่ยงให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ นอกจากในปลาทะเลน้ำลึกจะมีไขมันชนิดดีอยู่มากแล้ว ยังสามารถพบไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้จากถั่ว อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ แต่ก็ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น

ธงโภชนาการ ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่

ธงโภชนาการ คือแนวทางการรับประทานอาหารที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อร่างกายครบ 5 หมู่ จัดทำโดยกองโภชนาการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศไทย โดยมีการนำอาหารแต่ละหมวดหมู่มาแบ่งเป็นชั้นๆ ตามสัดส่วน ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมต่อการบริโภคใน 1 วัน

ธงโภชนาการ
ธงโภชนาการ

ปริมาณของสารอาหารที่ร่างกายคนเราควรได้รับนั้น แตกต่างกันไปตามพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน โดยสามารถแบ่งเป็นช่วงวัยและพลังงานที่ควรได้รับ ดังต่อไปนี้

  • เด็กอายุ 6-13 ปี หญิงวัยทำงานอายุ 25-60 ปี และผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป โดยควรได้รับพลังงาน 1,600 แคลอรี่ต่อวัน
  • วัยรุ่นอายุ 15-25 ปี ชายวัยทำงาน 25-60 ปี โดยควรได้รับพลังงาน 2,000 แคลอรี่ต่อวัน
  • ชายและหญิงที่ใช้พลังงานมาก เช่น นักกีฬา กรรมกร เกษตรกร และผู้ออกกำลังกาย โดยควรได้รับพลังงาน 2,500 แคลอรี่ต่อวัน

การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ แม้จะไม่มีสูตรตายตัว แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ร่างกายควรได้รับเพื่อที่จะได้นำสารอาหารจำเป็นเหล่านั้นไปหล่อเลี้ยงระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลทำให้ร่างกายแข็งแรง ห่างไกลจากโรคต่างๆ ได้ด้วยนั่นเอง

บทความแนะนำ