16 ธันวาคม 2565

สังกะสี (Zinc) แร่ธาตุที่ไม่ให้พลังงาน ทำให้ระบบร่างกายทำงานได้สมบูรณ์ ลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพ

สารบัญเนื้อหา

สังกะสี (Zinc) คือ แร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบการทำงานของร่างกาย โดยทำงานร่วมกับเอนไซม์กว่า 300 ชนิด เพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างสมดุล สังกะสีนั้นจัดเป็นแร่ธาตุที่ไม่ให้พลังงาน เพราะเป็นเพียงตัวกำหนดบทบาทและการทำงานของร่างกาย และหากร่างกายได้รับปริมาณสังกะสีอย่างเพียงพอ ก็จะทำให้ระบบต่างๆ ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพได้เป็นอย่างดี

ปริมาณของสังกะสีที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันอยู่ที่ประมาณ 1-2.5 กรัม โดยร้อยละ 90 ของสังกะสีภายในร่างกายจะอยูที่บริเวณกระดูกและกล้ามเนื้อ ส่วนอีกร้อยละ 10 จะอยู่บริเวณตับ ตับอ่อนและเลือด โดยหน้าที่หลักในการทำงานของสังกะสีก็คือ จะทำให้ระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเสริมสร้างการผลิตโปรตีนภายในร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ระบบสืบพันธุ์แข็งแรงและสมบูรณ์ เสริมสร้างการมองเห็น ช่วยให้แผลสมานเร็ว และป้องกันเซลล์ภายในร่างกายจากการถูกทำลายโดยสารอนุมูลอิสระ

แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสี

การรับประทานอาหารที่มีปริมาณสังกะสีเพียงพอ จะช่วยให้ร่างกายห่างไกลจากโรคภัยที่อาจจะเกิดขึ้น โดยอาหารที่สามารถพบสังกะสีได้ในปริมาณที่พอเหมาะ มีดังต่อไปนี้

  • หอยนางรม
  • จมูกข้าวสาลี
  • แป้งงาและเนยงา
  • ตับลูกวัว
  • น้ำนมวัว
  • ไข่แดง
  • เมล็ดฟักทอง
  • ถั่วลิสง
  • เม็ดมะม่วงหิมพานต์
  • เนื้อสัตว์ทุกประเภท
  • อาหารทะเล
  • ผงโกโก้ และช็อกโกแลต
  • เมล็ดแตงโม
  • เนื้อวัวย่างแบบไม่ติดมัน
  • มะม่วง และสับปะรด
  • วุ้นเส้นไม่ฟอกขาว
  • เมล็ดทานตะวัน

ภาวะการขาดสังกะสี

ภาวะการขาดสังกะสี สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายรับประทานอาหารที่มีสังกะสีในปริมาณน้อย โดยมักจะพบได้ในผู้คนที่มีอาการท้องเสียเรื้อรัง เพราะร่างกายจะดูดซึมได้น้อยลง และยังสามารถพบได้ในคนที่ควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก เพราะเลือกรับประทานมากเกินไป ทำให้ร่างกายนำเนื้อเยื่อบางส่วนมาใช้เป็นพลังงาน จึงทำให้เกิดการสูญเสียสังกะสีมากขึ้น เช่นเดียวกับผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารได้น้อยลง ก็มีโอกาสในการที่ร่างกายมีปริมาณสังกะสีน้อยลงเช่นกัน

ผู้ที่ขาดสังกะสีเป็นเวลานานจะมีอาการอย่างไร

สำหรับผู้ที่ขาดแร่ธาตุสังกะสีเป็นเวลานานๆ จะมีอาการแสดงแตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้

  • กระบวนการเจริญเติบโตของร่างกายทำงานช้าลง หากเกิดขึ้นในเด็ก ก็จะทำให้ร่างกายของเด็กแคะแกร็น ตัวเล็กกว่าปกติ
  • รู้สึกเบื่ออาหาร การรับรู้รสชาติลดน้อยลง
  • ผิวหนังมีอาการอักเสบ มีผื่นคัน และพัฒนาเป็นเม็ดพุพองตามร่างกาย
  • อวัยวะเพศของเด็กไม่เติบโตขึ้นตามวัย
  • ผมร่วง แห้งขาดง่าย แตกปลาย
  • เล็บเปราะ แตกหักง่าย
  • ผิวพรรณแห้งกร้าน ขาดความชุ่มชื้น
  • มีอาการซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ขาดสมาธิ และเหม่อลอย
  • มีอาการตาบอดแสง

ประโยชน์ของสังกะสีที่มีต่อสุขภาพร่างกาย

เมื่อร่างกายได้รับสังกะสีอย่างเพียงพอ ก็จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้

  1. เสริมสร้างกระบวนการสร้างโปรตีนและคอลลาเจน
  2. เป็นส่วนประกอบสำคัญของเอนไซม์หลายชนิด และมีส่วนช่วยในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ
  3. ช่วยควบคุมสมดุลความเป็นกรด-เบสในร่างกาย
  4. ควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อ
  5. ช่วยในการสร้างฮอร์โมนอินซูลิน
  6. ช่วยลดระยะเวลาของอาการเจ็บป่วยและบรรเทาอาการโรคหวัด
  7. มีส่วนช่วยในการเสริมสร้าง DNA
  8. เสริมสร้างการทำงานของสมองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  9. ช่วยให้ต่อมลูกหมากทำงานได้อย่างเป็นปกติ
  10. ช่วยให้อวัยวะสืบพันธุ์เติบโตได้อย่างเต็มที่
  11. ดูแลบำรุงร่างกายในส่วนที่สึกหรอ
  12. ช่วยให้เด็กเล็กมีพัฒนาการการรับรู้รสชาติและการได้กลิ่นที่สมบูรณ์
  13. ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
  14. ช่วยให้ร่างกายมีกระบวนการสมานแผลที่รวดเร็วยิ่งขึ้น

โทษจากการที่ร่างกายได้รับสังกะสีมากเกินไป

สังกะสีมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการก็จริง แต่ถ้าหากได้รับสังกะสีมากเกินไปก็อาจจะก่อให้เกิดโทษตามมาได้ เช่น หากได้รับสังกะสีมากเกิน 100 มิลลิกรัมต่อวัน จะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายพุ่งสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หากได้รับมากเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ รู้สึกเกร็งบริเวณหน้าท้อง และเกิดความผิดปกติบริเวณทางเดินอาหาร ดังนั้น หันมารับประทานอาหารที่ให้สังกะสีในปริมาณที่พอดีจะดีกว่า

กระบวนการในการทำงานของร่างกายนั้น ล้วนแล้วแต่จำเป็นต้องใช้สังกะสีเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นร่างกายมนุษย์จึงควรได้รับปริมาณรแร่ธาตุสังกะสีที่เพียงพอ เพื่อให้หกระบวนการทำงานดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดอัตราการเกิดความผิดปกติในส่วนต่างๆ ซึ่งจะรับในปริมาณมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล รวมไปถึง เพศ วัย และภาวะของสุขภาพ

บทความแนะนำ