15 ธันวาคม 2565

คอลลาเจน (Collagen) เสริมสร้างความแข็งแรง และความยืดหยุ่นให้ผิวหนังและอวัยวะ

สารบัญเนื้อหา

คอลลาเจน (Collagen) คือชื่อเรียกของเส้นใยโปรตีน ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบหลักของผิวหนัง ขน เส้นผม กระดูก ที่ร่างกายของมนุษย์สามารถสร้างขึ้นได้เองตามธรรมชาติ โดยมีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงและเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้กับอวัยวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ข้อต่อกระดูก, กระดูกอ่อน, เส้นเอ็น, กระดูกบริเวณส่วนต่างๆ และหลอดเลือด

ร่างกายของมนุษย์นั้น สามารถผลิตคอลลาเจนออกมาในปริมาณมากในช่วงที่อายุยังน้อย และจะค่อยๆ ลดการผลิตคอลลาเจน เมื่อเติบโตมากขึ้น กลายเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมผิวพรรณของคนเราถึงได้มีริ้วรอยเหี่ยวย่น ขาดความยืดหยุ่น และชุ่มชื้น เมื่ออายุมากขึ้น รวมไปถึงทำไมเมื่อแก่ตัว กระดูกของผู้สูงอายุถึงมีความเปราะบาง หรือเสื่อมสภาพได้ง่ายมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ

ประเภทของคอลลาเจน

จริงๆ แล้ว คอลลาเจนทั้งหมดที่พบได้โดยทั่วไปมีถึง 16 ชนิด แต่มีคอลลาเจนที่มีความจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์เพียง 5 ประเภท นั่นก็คือประเภทที่ 1, 2, 3, 5 และ 10

คอลลาเจนประเภทที่ 1

คอลลาเจนที่พบได้มากในร่างกายมนุษย์ เกิดจากอีโอสิโนฟิลไฟเบอร์ มีส่วนช่วยเสริมสร้างกระดูก ช่วยคงความยืดหยุ่นให้กับผิวหน้า ผิวกาย ทำหน้าที่ปกป้องเนื้อเยื่อบริเวณส่วนต่างๆ ไม่ให้ฉีดขาดจากกัน โดยเป็นคอลลาเจนที่สามารถพบได้มากในระบบทางเดินทางอาหาร

คอลลาเจนประเภทที่ 2

คอลลาเจนประเภทนี้ เป็นคอลลาเจนที่ทำหน้าที่ในการเสริมสร้างกระดูกอ่อนให้แข็งแรง สามารถพบได้บริเวณเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย อีกทั้งยังมีประโยชน์ในการป้องกันข้อต่อในส่วนต่างๆ จากอาการบาดเจ็บ และช่วยป้องกันโรคไขข้อได้

คอลลาเจนประเภทที่ 3

คอลลาเจนที่ถูกผลิตขึ้นมาจากเส้นใยร่างแหภายนอกเซลล์ ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างอวัยะและผิวหนังของมนุษย์ ทำหน้าที่ช่วยให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่นและกระชับ อีกทั้งยังป้องกันให้เกิดภาวะเส้นเลือดแตกได้ดี

คอลลาเจนประเภทที่ 5

เป็นคอลลาเจนที่มีความสำคัญในการเสริมสร้างพื้นผิวของเซลล์ รวมไปถึงเส้นผม โดยพบได้ในรกของสตรี ในช่วงที่อวัยวะกำลังพัฒนามดลูกระหว่างตั้งครรภ์

คอลลาเจนประเภทที่ 10

คอลลาเจนประเภทนี้ ทำหน้าที่เสริมสร้างกระดูกใหม่และกระดูกอ่อนของข้อ มีประโยชน์ในเรื่องการรักษาอาการกระดูกแตก จึงสามารถฟื้นฟูและซ่อมแซมกระดูกในส่วนที่ชำรุด สึกหรอ หรือขาดหายได้อย่างรวดเร็ว

การรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจน

ในยุคสมัยปัจจุบัน มีการสกัดคอลลาเจนบริสุทธิ์มาเป็นอาหารเสริมพร้อมโฆษณาชวนเชื่อมากมาย ว่ารับประทานแล้วจะช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส บำรุงกระดูก และข้อต่อให้แข็งแรง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่างๆ ลงได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ผลการวิจัยนั้น ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า คอลลาเจนสำหรับรับประทานนั้น สามารถดูดซึมเข้าร่างกายได้โดยไม่ผ่านกระบวนย่อยในทางเดินอาหารหรือไม่ ดังนั้นคำโฆษณาที่ได้ยินกันในปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือไม่อย่างไร

ในขณะเดียวกันก็มีการวิจัยในสัตว์ทดลอง ระบุว่า การรับประทานเปปไทด์ซึ่งประกอบด้วยกรดอะมิโนเพียง 2 ตัวนั้น มีเพียง ร้อยละ 5 ที่ยังคงเป็นเปปไทด์อยู่ ส่วนอีกร้อยละ 95 นั้นถูกย่อยจนหมด จึงเชื่อได้ว่าหลักการนั้นก็จะสอดคล้องเช่นเดียวกับการรับประทานคอลลาเจน ที่ปริมาณคอลลาเจนที่เข้าสู่ร่างกายเกือบทั้งหมดจะถูกย่อยสลายก่อนได้รับการดูดซึมในรูปแบบกรดอะมิโนนั่นเอง

การฉีดคอลลาเจนบำรุงผิว

นอกจากคอลลาเจนแบบรับประทานที่มีวางขายกันตามท้องตลาดแล้ว ยังมีการฉีดคอลลาเจนเข้าสู่ร่างกายด้วยคำโฆษณาที่เคลมว่าจะช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ขาวสว่างกระจ่างใส และบำรุงร่างกายในการป้องกันโรคต่างๆ ได้ แต่จริงๆ แล้วการฉีดคอลลาเจนประเภทนี้เข้าสู่ร่างกายนั้น เป็นการฉีดคอลลาเจนที่สกัดมาจากวัวเพื่อเติมเต็มผิวในส่วนที่มีร่องรอยต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้มีการยกเลิกไปแล้ว เพราะมีอัตราของผู้แพ้คอลลาเจนชนิดนี้ค่อนข้างสูง ทำให้ในเวลาต่อมา ได้มีการเปลี่ยนจากคอลลาเจนสกัดจากวัว เป็นคอลลาเจนแบบสังเคราะห์หรือที่เรียกว่าสารเติมเต็มทดแทน

การทาคอลลาเจน

มีการยืนยันออกมาแล้วว่า การทาคอลลาเจนบนผิวหนังเพื่อบำรุงผิวตามสรรพคุณที่กล่าวอ้างเอาไว้นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะคอลลาเจนนั้นไม่สามารถซึมซาบเข้าสู่ผิวหนังได้แต่อย่างใด เนื่องด้วยโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่มากกว่ารูขุมขน ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นในการซื้อผลิตภัณฑ์คอลลาเจนสำหรับทาผิว มาใช้เพื่อบำรุงผิวหรือเติมเต็มผิวอย่างที่มีการกล่าวอ้างในโฆษณา

ผลกระทบหากร่างกายขาดคอลลาเจน

ผลกระทบที่อาจจะพบได้หากร่างกายขาดคอลลาเจน มีดังต่อไปนี้

  1. เกิดริ้วรอยบนผิวหนังได้ง่าย
  2. ผิวหนังเหี่ยวย่น เกิดความหย่อนคล้อย มีตีนกาบริเวณหางตา หน้าดูแก่เกินวัย
  3. กระดูกอ่อนเสื่อมสภาพ หรืออาจจะส่งให้กระดูกเปราะ และแตกหักง่าย
  4. มีความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเสื่อม

ปัจจัยที่ทำให้ร่างกายขาดคอลลาเจน

  1. อายุมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่ร่างกายไม่สามารถผลิตคอลลาเจนได้ตามธรรมชาติ
  2. รังสี UV จากแสงแดด ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตคอลลาเจนลดน้อยลง
  3. รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่
  4. ความเครียด
  5. ดื่มแอลกอฮอลล์
  6. สูบบุหรี่
  7. พักผ่อนไม่เพียงพอ

หนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้มีคอลลาเจนเพียงพอในร่างกาย ก็คือการรับประทานอาหารที่มีคอลลาเจน เช่น ปลาทะเล สาหร่าย เห็ด เต้าหู้ กระดูกอ่อนและผักผลไม้ที่มีวิตามินซี เป็นต้น พร้อมกับดื่มน้ำให้มากๆ และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนที่จำเป็นได้อย่างพอเพียง และทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งกระจ่างใสอย่างมีสุขภาพดีได้แล้ว

บทความแนะนำ