14 ธันวาคม 2565

แคลอรี่ (Calorie) หน่วยวัดพลังงานจากสารอาหาร ต้องรักษาให้อยู่ในระดับที่เพียงพอ

สารบัญเนื้อหา

แคลอรี่ (Calorie) คือหน่วยที่ใช้วัดพลังงานจากสารอาหารต่างๆ ที่ร่างกายได้รับในแต่ละวัน ซึ่งมักจะพบเห็นได้บนฉลากโภชนาการของอาหารหลายๆ ประเภท โดยจะระบุปริมาณพลังงานของอาหารนั้นๆ ที่รับประทานเข้าไป และเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายได้รับสารอาหารเกินกว่าที่จำเป็นในแต่ละวัน ก็จะทำให้ร่างกายแปรเปลี่ยนพลังงานนั้นออกมาในรูปของไขมัน กลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน หากร่างกายได้รับปริมาณแคลอรี่ไม่เพียงพอใน 1 วัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็จะทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้เช่นกัน

เพศชายและเพศหญิงต้องการพลังงานแคลอรี่ในปริมาณที่ต่างกัน

พลังงานแคลอรี่ที่เพศชายและเพศหญิงควรได้รับใน 1 วันนั้น มีความแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่แล้ว เพศชายควรได้รับพลังงานต่อวันไม่เกิน 2,500 กิโลแคลอรี่ ส่วนเพศหญิงนั้นไม่ควรเกิน 2,000 กิโลแคลอรี่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า เพศชายและเพศหญิงต้องการพลังงานเข้ามาทดแทนในร่างกายมากน้อยแค่ไหน เพราะในกลุ่มนักกีฬานั้น ถือเป็นกลุ่มคนที่ต้องการพลังงานมากกว่าคนทั่วไป จึงสามารถรับปริมาณพลังงานได้มากขึ้น เช่นเดียวกับผู้ใช้แรงงาน หญิงตั้งครรภ์ ที่จำเป็นต้องมีปริมาณแคลอรี่ในระดับที่เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

ประเภทของแคลอรี่

แคลอรี่เป็นหน่วยที่ใช้บอกพลังงานที่ได้รับจากอาหาร โดยสามารถแยกเป็น 2 รูปแบบได้ดังนี้

  1. แคลอรี่ขนาดเล็ก (Small Calorie) เป็นหน่วยของปริมาณความร้อน ที่ 1 แคลอรี่จะมีค่าเท่ากับน้ำบริสุทธ์ 1 กรัมที่มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศา
  2. แคลอรี่ขนาดใหญ่ (Large Calorie) เป็นหน่วยของพลังงานที่ได้จากการเผาผลาญอาหารในร่างกาย โดย 1 แคลอรี่อาหารนั้นจะเท่ากับ 1 กิโลแคลอรี่ หรือ 1,000 แคลอรี่ ซึ่งการเรียกนั้นสามารถเรียกย่อจากกิโลแคลอรี่ ให้เป็นแคลอรี่ได้

ต้องเผาผลาญพลังงานแค่ไหน จึงจะลดน้ำหนักลงได้ 1 กิโลกรัม

การที่จะลดน้ำหนักตัวลงให้ได้ 1 กิโลกรัมนั้น จำเป็นต้องมีการเผาผลาญปริมาณพลังงานในร่างกายที่สะสมเอาไว้มากถึง 7,700 กิโลแคลอรี่ ดังนั้นการรับประทานอาหารให้น้อยลงในแต่ละวัน ถือเป็นตัวช่วยที่ดีที่จะทำให้ร่างกายดึงเอาพลังงานในร่างกายมาเผาผลาญได้จนหมด ในทางกลับกัน หากร่างกายได้รับปริมาณพลังงานมากเกินกว่าที่จำเป็นในแต่ละวัน ร่างกายก็จะสะสมพลังงานนั้นเอาไว้ในรูปของไขมัน พลังงานที่เกินกว่า 7,700 กิโลแคลอรี่ ก็จะส่งผลทำให้น้ำหนักขึ้นมากกว่า 1 กิโลกรัมได้นั่นเอง

แคลอรี่ในด้านโภชนาการ

สารอาหารที่ให้พลังงานต่อร่างกาย ประกอบไปด้วยไขมัน คาร์โบไฮเดรตและโปรตีน โดยสารอาหารแต่ละชนิด จะให้พลังงานดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรท 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่
  • โปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่
  • ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่
  • ข้าวเปล่า 1 จานให้พลังงาน 40 กิโลแคลอรี่ เท่ากับพลังงานที่ได้จากกล้วยแขก 4 ชิ้น
  • ข้าวผัดกะเพราไข่ดาว 1 จาน ให้พลังงาน 200 กิโลแคลอรี่

ปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน

จากคำแนะนำของ Thai Recommended Daily Intakes ระบุไว้ว่า ปริมาณสารอาหารที่เหมาะสมในการบริโภคในแต่ละวันสำหรับคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป คำนวณจากพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน 2,000 แคลอรี่ ได้ปริมาณพลังงานจากสารอาหารที่ควรบริโภคต่อวันดังนี้

สารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจําวันสำหรับคนไทย
สารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจําวันสำหรับคนไทย
  • คาร์โบไฮเดรต ควรบริโภค 60% หรือประมาณ 1,200 กิโลแคลอรี่
  • ไขมัน ควรบริโภค 30% หรือประมาณ 600 กิโลแคลอรี่
  • โปรตีน ควรบริโภค 10% หรือประมาณ 200 กิโลแคลอรี่

ทั้งนี้ปริมาณพลังงานที่ร่างกายควรได้รับนั้น จะสัมพันธ์กับการใช้งานพลังงานต่อวันในแต่ละบุคคลด้วย หากร่างกายต้องการพลังงานมากหรือน้อยกว่าที่จำเป็นในแต่ละวัน ก็สามารถปรับเพิ่มหรือลดลงได้ตามความเหมาะสม เช่น นักกีฬา กรรมกร หญิงตั้งครรภ์ อาจจะรับประทานอาหารที่ให้พลังงานในสัดส่วนที่มากกว่าปริมาณที่คนทั่วไปควรได้รับ เพื่อให้พลังงานต่างๆ มีความเพียงพอต่อร่างกายมากขึ้น

แคลอรี่ที่ร่างกายควรได้รับนั้น ยังมีความสัมพันธ์กับอายุและน้ำหนักตัวของแต่ละคนด้วย โดยเฉพาะในวัยแรกเกิด หรือเด็กเล็ก ที่จำเป็นจะต้องได้รับปริมาณของพลังงานที่พอเพียงมากกว่าวัยผู้ใหญ่ ในขณะที่ผู้สูงอายุนั้น อาจจะต้องลดปริมาณพลังงานที่รับเข้าสู่ร่างกายน้อยกว่าช่วงวัยอื่นๆ เพราะระบบเผาผลาญทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนช่วงวัยอื่นๆ

บทความแนะนำ