14 ธันวาคม 2565

โซเดียม (Sodium) คือเกลือแร่ ช่วยปรับสมดุลของของเหลวในร่างกาย พบได้ในเกลือแกงและน้ำปลา

สารบัญเนื้อหา

โซเดียม (Sodium) คือเกลือแร่ ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยทำหน้าที่ในการควบคุมความสมดุลของของเหลวต่างๆ ช่วยรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ตลอดจนการดูดซึมของสารอาหารบางชนิดในไตและลำไส้เล็ก

โซเดียมที่พบได้ทั่วไป ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเกลือแกง และน้ำปลาซึ่งมีรสชาติเค็ม จากการสำรวจพบว่าคนไทยที่รับประทานเกลือในแต่ละวันทั้งจากอาหารและเครื่องปรุงรสนั้น โดยรับประทานเฉลี่ยแล้ววันละ 7 กรัม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วร่างกายมนุษย์จำเป็นต้องได้รับโซเดียมประมาณ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน และไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัม ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข หรือใช้อัตราวัดง่ายๆ ก็คือวันละไม่เกิน 1 ช้อนชา เพราะถ้าหากร่างกายมีปริมาณโซเดียมมากเกินไป ก็จะก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไต ฯลฯ

ในแต่ละวันนั้น หลายหลายคนมักจะบริโภคโซเดียมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เพราะในอาหารหลายๆ ชนิดที่รับประทานเข้าไปนั้น มักจะมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบจากการใช้เครื่องปรุงรส เช่น ผงชูรส, ซุปก้อน อีกทั้งยังพบได้ในผงฟูสำหรับทำขนมปัง สารกันบูด และอื่นๆ อีกมากมาย

ประโยชน์ของโซเดียม

โซเดียมมีประโยชน์ต่อร่างกายดังต่อไปนี้

  1. ทำหน้าที่ในการปรับแรงดันภายในและภายนอกเซลล์ ช่วยควบคุมการกระจายตัวของน้ำ ทำให้เซลล์ไม่เกิดอาการบวมน้ำ และป้องกันไม่ให้ร่างกายอยู่ในภาวะเสียน้ำมากเกินไป
  2. ช่วยควบคุมระดับโพแทสเซียมและแร่ธาตุอื่นๆ ที่อยู่ทั้งภายนอกและภายในเซลล์ให้อยู่ในสภาพสมดุล
  3. ช่วยให้ร่างกายควบคุมสมกุลของกรดและเบสได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ส่งผลต่อการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสและกรดอะมิโนในทางเดินอาหาร และช่วยดูดกลับแร่ธาตุสำคัญต่อร่างกายกลับมาที่หลอดไตได้เป็นอย่างดี
  5. เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของโครงสร้างกระดูกและฟัน
  6. เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของน้ำย่อยในทางเดินอาหาร
  7. ช่วยป้องกันอาการอ่อนเพลียจากความร้อน และป้องกันโรคลมแดด
  8. ช่วยให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาททำงานได้อย่างเป็นปกติ

อาหารที่ควรระวัง เพราะมีปริมาณโซเดียมสูง อาจเสี่ยงทำให้ไตพัง

การรับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย โดยเฉพาะผลเสียต่อไตที่ทำหน้าที่ในการขับของเสียออกจากร่างกาย ดังนั้นผู้ที่ต้องการมีสุขภาพที่แข็งแรงห่างไกลจากโรคไต ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดังต่อไปนี้

1. เนื้อสัตว์แปรรูป

เป็นอาหารที่จัดอยู่ในอาหารอันตราย เพราะต้องใช้เกลือเป็นส่วนประกอบในปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นไส้กรอก, แฮม, เบค่อนที่ได้รับการแปรรูป มักจะมีปริมาณโซเดียมมากเกินกว่าปริมาณที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ โดยในเบค่อน 100 กรัม มีปริมาณโซเดียมมากถึง 662 มิลลิกรัม ส่วนไส้กรอกหมูเพียง 1 ชิ้น ก็มีปริมาณโซเดียมมากถึง 388 กรัม

2 .น้ำผลไม้

หลายคนอาจจะคิดว่าน้ำผลไม้ดีต่อสุขภาพ แต่น้ำผลไม้กลับมีส่วนประกอบของน้ำตาลปริมาณมาก และยังมีส่วนประกอบของโซเดียมในปริมาณสูงด้วยเช่นกัน โดยในน้ำมะเขือเทศ 1 แก้วปริมาณ 200 มิลลิลิตรนั้น มีปริมาณโซเดียมมากถึง 280 มิลลิกรัม

3. บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

จัดเป็นหนึ่งในอาหารแปรรูปอันตรายที่มีปริมาณโซเดียมสูงมาก โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง (น้ำหนักประมาณ 55-60 กรัม) มีปริมาณโซเดียมสูงถึง 1,480 – 1,500 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณโซเดียมจากตัวเส้นบะหมี่และเครื่องปรุง

4. ขนมกรุบกรอบ

ขนมกรุบกรอบ ขึ้นชื่อว่าเป็นภัยร้ายของร่างกาย เพราะมีปริมาณโซเดียมสูงมาก โดยขนมประเภทถั่วลิสงอบแกลือ 100 กรัม มีปริมาณโซเดียมมากถึง 400 มิลลิกรัม ส่วนขนมประเภทมันฝรั่งทอดกรอบ 1 ถุงนั้นก็มีปริมาณโซเดียมมากถึง 149 มิลลิกรัม

5. ขนมปังโฮลวีท

แม้ว่าขนมปังโฮลวีทจะเป็นขนมปังที่มีสารอาหารอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็มีโทษจากโซเดียมติดสอยห้อยตามมาด้วยเช่นกัน โดยในขนมปังโฮลวีท 1 แผ่นนั้น มีโซเดียมมากถึง 125 มิลลิกรัม ในขณะที่ขนมปังขาว มีปริมาณโซเดียมอยู่ที่ 117 มิลลิกรัม

6. เครื่องปรุง

เครื่องปรุงประเภทน้ำปลา และซอสมะเขือเทศจัดเป็นเครื่องปรุงที่มีปริมาณโซเดียมสูงมาก โดยในซอสมะเขือเทศ 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียมสูงถึง 149 มิลลิกรัม ส่วนน้ำปลาในปริมาณที่เท่ากันนั้น ให้โซเดียมมากถึง 1,620 มิลลิกรัม

เทคนิคกินอาหารอย่างไรให้ห่างไกลโซเดียม

เพื่อให้ห่างไกลจากอันตรายของโซเดียม มาดูกันดีกว่าว่าจะรับประทานอาหารอย่างไรให้ปลอดภัยมากที่สุด

  1. อ่านฉลากเครื่องปรุงเพื่อทราบถึงปริมาณโซเดียม ก่อนซื้อทุกครั้ง โดยควรเลือกเครื่องปรุงที่มีปริมาณโซเดียมน้อย
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดองเค็ม เช่น ปลาเค็ม ไข่เค็ม หอยดอง รวมไปถึงอาหารหมักดอง อาหารแปรรูปที่ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีปริมาณโซเดียมสูง
  3. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีผงชูรส
  4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของผงฟู เช่น ขนมอบ คุ้กกี้ เค้ก พาย ฯลฯ
  5. พิถีพิถันในการปรุงอาหารให้มีหลากหลายรสชาติมากขึ้น หลีกเลี่ยงการปรุงให้เกิดรสเค็มเพียงอย่างเดียว
  6. ดัดแปลงสูตรอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงการใส่เกลือหรือน้ำปลาในปริมาณมากๆ
  7. หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยเกลือโดยไม่จำเป็น เช่น กินผลไม้โดยเลี่ยงการจิ้มพริกกับเกลือ, กินข้าวโพดโดยไม่ต้องชุบน้ำเกลือ
  8. ชิมอาหารก่อนปรุงทุกครั้ง เพราะอาหารบางจานเค็มอยู่แล้ว หากใส่เกลือหรือปรุงเค็มมากขึ้นก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

เห็นได้ชัดว่าอาหารในทุกวันนี้มีปริมาณโซเดียมเป็นส่วนประกอบแทบจะทุกเมนู ดังนั้นผู้บริโภคควรหันมาใส่ใจในการรับประทานมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคต่างๆ และปัญหาสุขภาพที่เกิดมาจากการรับปริมาณโซเดียมเข้าสู่ร่างกายมากเกินความจำเป็น

บทความแนะนำ