13 ธันวาคม 2565

LDL ไขมันเลว ทำให้เกิดโรคความดันสูง พบได้ในไขมันจากเนื้อสัตว์หลายชนิด

สารบัญเนื้อหา

LDL หรือ Low Density Liloprotein คือไขมันชนิดหนึ่งที่มีความหนาแน่นต่ำ โดยเมื่อร่างกายมีปริมาณไขมัน LDL ในเลือดมากเกินไป ก็จะมีความสัมพันธ์ชัดเจนต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด เพราะไขมัน LDL ทำหน้าที่เป็นตัวนำคอเลสเตอรอลภายในร่างกายยออกจากตับมุ่งเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อมีปริมาณมากขึ้นก็จะพอกสะสมอยู่ที่บริเวณผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดแข็ง และตีบ กลายเป็นโรคร้ายต่างๆ ตามมา เช่น โรคความดัน, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคไตวาย รวมไปถึงอัมพาตและอัมพฤกษ์ได้

สาเหตุของการที่ร่างกายมีปริมาณ LDL มากเกินความจำเป็น เนื่องมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เพราะตัวการที่ทำให้ร่างกายมีปริมาณ LDL เพิ่มขึ้นก็คือไขมันทรานส์หรือไขมันอิ่มตัวในอาหารต่างๆ ดังนั้น หากมีแต่ปริมาณไขมันไม่ดี (LDL) ปราศจากปริมาณไขมันดี (HDL) ที่คอยทำหน้าที่ในการกำจัดไขมันส่วนเกินออกจากผนังหลอดเลือด ก็จะยิ่งทำให้สุขภาพร่างกายแย่ลงมากขึ้น

LDL พบได้ในอาหารประเภทใดบ้าง

LDL หรือไขมันชนิดไม่ดี สามารถพบได้ในอาหารดังต่อไปนี้

1. อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง

อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ ยกเว้นเนื้อปลา ไข่ นม เนย ชีส เค้ก น้ำสลัดสำเร็จรูป พืชตระกูลปาล์ม ฯลฯ ถือเป็นอาหารที่จะทำให้ร่างกายมีปริมาณของ LDL สะสมมากขึ้น หากรับประทานเป็นประจำ ก็จะมีผลในการเพิ่ม LDL ภายในเลือด ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีกฎหมายบังคับให้อาหารทุกประเภท จำเป็นต้องมีฉลากบอกเอาไว้ว่า มีปริมาณไขมันอิ่มตัวมากน้อยเท่าไหร่ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทานได้อย่างปลอดภัยต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น

2. อาหารจำพวกไขมันทรานส์ เป็นไขมันไม่อิ่มตัว

ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ได้มีการนำเอาไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ซึ่งเป็นไขมันชนิดที่พบได้จากน้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว และน้ำมันถั่วเหลือง มาแปรรูปให้ไขมันไม่อิ่มตัวกลายเป็นไขมันทรานส์ เพื่อให้กลายสภาพเป็นไข และสามารถนำเอาไปทำเป็นเนยเทียม หรือใช้สำหรับเคลือบอาหารสำเร็จรูปได้ง่ายขึ้น โดยอาหารที่มักพบว่ามีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ ได้แก่ ขนมอบ หรือเบเกอรี่ประเภทต่างๆ ที่มีมาการีนเป็นส่วนประกอบ อาหารอบ อาหารทอด ขนมกรุบกรอบ คอฟฟี่เมท และครีมเทียม เป็นต้น เมื่อรับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากๆ ก็จะทำให้มีปริมาณ LDL สูงมากขึ้น และทำให้ปริมาณของ HDL ต่ำลง

LDL ไม่ได้มีโทษต่อร่างกายเพียงอย่างเดียว

นอกจากจะมีโทษต่อร่างกายแล้ว LDL หรือไขมันชนิดไม่ดี ก็ยังมีข้อดีด้วยเช่นกัน เพราะ LDL นั้นเป็นไขมันที่ถูกสร้างขึ้นมาจากตับ เพื่อส่งออกมาสู่ระบบไหลเวียนเลือด หากมีในปริมาณที่เหมาะสม LDL ก็จะทำหน้าที่คอยขนส่งสารคอเลสเตอรอลให้กับเซลล์ต่างๆ ของร่างกายที่ต้องการ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างน้ำดีเพื่อย่อยไขมัน อันเป็นโครงสร้างสำคัญของวิตามินดีและฮอร์โมนเพศ ดังนั้นหากร่างกายขาดไขมันชนิดไม่ดี ก็จะก่อให้เกิดโทษได้เช่นกัน จึงกล่าวได้ว่าการมี LDL นั้น หากมีมากไปก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่ถ้าหากมีน้อยเกินไป หรือไม่มีเลย ก็จะทำให้ร่างกายได้รับผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในได้

อย่างไรก็ตาม ค่า LDL ที่เพียงพอต่อร่างกายนั้น ไม่ควรสูงกว่า 130 mg/dl เพราะหากมีค่าสูงเกินนี้ ก็จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากขึ้น ดังนั้นหากร่างกายมีค่า LDL สูงเกิน 190 จะถือว่าผิดปกติ และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหารโดยด่วน มิเช่นนั้นแล้ว โรคภัยต่างๆ และปัญหาสุขภาพจะตามมา

วิธีลดค่า LDL ภายในร่างกาย

เมื่อได้ทราบถึงทั้งโทษและประโยชน์ของ LDL ไปแล้ว มาดูกันดีกว่า วิธีใดที่จะช่วยให้ค่า LDL ภายในร่างกายอยู่ในระดับมาตรฐานได้บ้าง

1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้โทษ

ในแต่ละวัน ร่างกายควรได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงมากเกินไป เช่น อาหารทะเล, ขนมกรุบกรอบ ฯลฯ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ อาหารที่ต้องใช้ความร้อนสูงในการปรุง

2. เน้นอาหารที่มีกากใยสูง

อาหารที่มีกากใยสูงจะช่วยเพิ่มปริมาณ HDL (ไขมันดี) ให้มีความสมดุลภายในร่างกาย และเมื่อร่างกายมี HDL เพียงพอก็จะเป็นตัวช่วยให้ปริมาณ LDL ลดลงได้

3. ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกายเป็นประจำโดยใช้เวลา 30 นาทีขึ้นไป จะส่งผลทำให้ร่างกายสามารถเพิ่มระดับ HDL และลดระดับของ LDL ได้ในเวลาเดียวกัน

4. เลิกสูบบุหรี่

การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยให้ร่างกายมีปริมาณ HDL เพิ่มมากขึ้นในระดับที่พอเพียง ทำให้ระดับ LDL จะถูกกำจัดอย่างเหมาะสม และยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ร่างกายปลอดภัยจากโรคต่างๆ และปัญหาสุขภาพได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการเลิกสูบบุหรี่ยังช่วยเพิ่มระดับไขมันดีให้กับร่างกายได้ถึงร้อยละ 10

การลดระดับ LDL ในร่างกายให้อยู่ในปริมาณสมดุล สามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ลดการใช้น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าวปรุงอาหาร หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธีในการทอด และอาหารจานด่วนต่างๆ เพราะจะช่วยให้ร่างกายห่างไกลจากภัยร้ายที่เกิดจากระดับ LDL ที่สูงเกินความจำเป็นได้

ไขมันดี (HDL) ยิ่งมีมาก ยิ่งดีต่อร่างกายจริงหรือไม่?

HDL แม้จะเป็นไขมันที่ได้ชื่อว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถลดปัจจัยในการเกิดโรคร้ายต่างๆ ได้ก็จริง แต่ถ้าร่างกายได้รับมากเกินไปก็อาจจะก่อให้เกิดโทษได้เช่นกัน ดังนั้น ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความสมดุลภายในร่างกาย จะเป็นผลดีต่อสุขภาพมากที่สุด