15 ธันวาคม 2565

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) ไขมันชนิดหนึ่ง ถ้ารับมากไปจะเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด

สารบัญเนื้อหา

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) คือไขมันชนิดหนึ่งที่ได้จากการรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น หมู วัว ไก่ อีกทั้งยังได้จากการที่ตับสังเคราะห์ขึ้นเอง จากน้ำตาล แป้ง ข้าว และแอลกอฮอล์ โดยหลังจากที่ไตรกลีเซอไรด์เข้าสู่ร่างกาย ก็จะสามารถละลายในเลือดได้โดยรวมเข้ากับโปรตีน และถูกดูดซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ซึ่งบางส่วนนั้นจะถูกดูดซึมไว้ที่เนื้อเยื่อไขมัน เมื่อไตรกลีเซอไรด์ถูกดูดซึมทางลำไส้ใหญ่ ร่างกายก็จะลำเลียงไปไว้ที่บริเวณตับ เพื่อแปรรูปให้อนุมาคมีขนาดเล็กลง ทำให้สามารถนำพาไตรกลีเซอไรด์ไปหล่อเลี้ยงตามเซลล์ต่างๆ ได้อย่างสะดวก เพราะอนุภาคดังกล่าวสามารถละลายไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดได้ดีขึ้น

ความแตกต่างระหว่าง ไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล

ไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสเตอรอล มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยไตรกลีเซอไรด์นั้นเป็นไขมันแท้ ที่มีค่าพลังงานประมาณ 9 แคลอรี่ต่อกรัม ในขณะที่คอเลสเตอรอลไม่มีค่าเชิงพลังงาน ดังนั้นเมื่อร่างกายขาดกลูโคส ในกรณีที่ไม่ได้รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรท ไตรกลีเซอไรด์ที่สะสมเอาไว้ก็จะถูกร่างกายดึงออกมาเผาผลาญเพื่อสร้างเป็นพลังงานสำรอง ส่วนคอเลสเตอรอลนั้น เนื่องจากไม่ใช่ค่าพลังงาน ร่างกายจึงไม่สามารถดึงเอาออกมาใช้ได้

ไตรกลีเซอไรด์ ภัยร้ายของร่างกายที่ทำให้เกิดโรค

หากปริมาณไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายสูงมากเกินไป ก็อาจจะก่อให้เกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพตามมาได้ เช่น ร่างกายมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแข็ง และมีอาการอื่นๆ ร่วมได้อีกด้วย เช่น ตับโต ม้ามโต ปวดท้อง ระบบประสาททำงานผิดปกติ รู้สึกปวดข้อ ปวดเข่า และปวดกระดูก

นอกจากนี้ การมีระดับไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดสูงมากเกินไป ยังจะส่งผลให้ระดับ HDL หรือปริมาณไขมันชนิดีในเลือดลดต่ำลงด้วย นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายมีไตรกลีเซอไรด์สูงมากเกินไป ก็จะก่อให้เกิดโรคข้างต้นตามมาได้ง่ายๆ และผู้หญิงที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงก็ยังมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมด้วย เพราะไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดที่มีค่าสูงมากเกินไป จะไปกระตุ้นให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ไหลเวียนอยู่ภายในร่างกายมีปริมาณสูงขึ้นด้วย จึงพัฒนากลายเป็นปัจจัยในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ ดังนั้น การรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม บริโภคอาหารที่มีไตรกลีเซอไรด์ในปริมาณน้อยหรือพอเพียง ก็ย่อมทำให้ร่างกายห่างไกลจากปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่อาจจะมาเยือนได้

แหล่งอาหารที่มีปริมาณไตรกลีเซอไรด์สูง

เมื่อได้ทราบถึงพิษภัยของไตรกลีเซอไรด์แล้ว มาดูกันดีกว่าว่า อาหารประเภทใดที่ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากมีค่าไตรกลีเซอไรด์สูงกันบ้าง

  • อาหารที่มีปริมาณไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันสัตว์ ของทอด ของมัน กะทิ หนังสัตว์ต่างๆ
  • น้ำตาล อาหารที่มีรสชาติหวาน ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากดื่มเป็นประจำก็จะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตไตรกลีเซอไรด์มากขึ้น ทำให้การเคลื่อนย้ายไขมันออกจากเลือดเป็นไปได้ช้ากว่าปกติ

รับประทานอย่างไรให้ห่างไกลพิษภัยจากไตรกลีเซอไรด์

การรับประทานอาหารที่เหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายห่างไกลพิษภัยจากไตรกลีเซอไรด์ได้ มาดูกันดีกว่าว่าควรรับประทานอย่างไร ให้ร่างกายมีระดับไตรกลีเซอไรด์น้อยที่สุด

  1. เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว ที่ไม่ติดมันและไม่ติดหนัง
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของมาการีน เนยเทียม และครีมเทียม
  3. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธีการทอด
  4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แหนม แฮม โบโลน่า ไส้อั่ว ไส้กรอก
  5. เลือกรับประทานอาหารประเภทโปรตีนถั่วเหลือง เช่น นมถั่วเหลือง วุ้นเส้น เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ ทดแทนการรับประทานโปรตีนจากสัตว์ในบางมื้ออาหารจะช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายได้
  6. เลือกรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 ในปริมาณสูง จำพวกปลาทะเล เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาโอ ปลาทู และปลาทูน่า เป็นต้น โดยควรบริโภคอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยให้ระดับไขมันไม่ดีในร่างกายลดต่ำลง และช่วยเพิ่มปริมาณไขมันชนิดดีให้กับร่างกาย ทำให้มีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น  
  7. เลือกรับประทานเมล็ดพืช เช่น เมล็ดเจีย เมล็ดฟักทอง และเมล็ดดาวอินคา เพราะมีสรรพคุณช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดได้
  8. เลือกรับประทานถั่วเปลือกแข็ง เช่น ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วพิสตาชิโอ ถั่วแมคคาดาเมีย และถั่วอัลมอนด์ ในปริมาณไม่เกิน 1 กำมือต่อวัน
  9. เลือกรับประทานไขมันจากพืช แทนการรับประทานไขมันจากเนื้อสัตว์ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดแฟล็ก น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันคาโนล่า หากจำเป็นต้องใช้น้ำมันในการประกอบอาหารให้เลือกน้ำมันประเภทข้างต้น จะสามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายให้ต่ำลงได้

สำหรับค่าปกติของไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดนั้นไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากมีค่าสูงเกินระดับดังกล่าว นั่นแสดงว่าร่างกายมีการสะสมของไตรกลีเซอไรด์สูง อีกทั้งการที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมากยังทำให้ระดับ HDL หรือไขมันชนิดดีในร่างกายลดต่ำลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดตามมาได้

บทความแนะนำ