โพรไบโอติก (Probiotics) คือเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งได้รับการคัดเลือกแล้วว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย โดยสามารถพบได้ในลำไส้ของร่างกายมนุษย์ เชื้อดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการเสริมสร้างด้านการทำงานในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งมนุษย์สามารถเพิ่มโปรไบโอติกส์ให้กับร่างกายได้ ด้วยการรับประทานอาหารจำพวกโยเกิร์ต, น้ำผลไม้, กิมจิ, ซุปมิโซะ รวมไปถึงผักและผลไม้ต่างๆ เช่น กระเทียม, หอมหัวใหญ่, ต้นหอม, หน่อไม้ฝรั่ง, กะหล่ำปลี, ฝรั่ง, กล้วย, แอปเปิ้ล โดยผู้ที่มีปริมาณโปรไบรโอติกส์ในร่างกายที่เหมาะสม ก็จะมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
โพรไบโอติกส์เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็จะไปตั้งรกรากอาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ ทำหน้าที่ในการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ภายในลำไส้ ส่งผลให้มีจำนวนแบคทีเรียที่ดีเพิ่มมากขึ้น ทำให้สุขภาพลำไส้ดีขึ้น และยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
ในปัจจุบันมีการผลิตโพรไบโอติกส์ออกมาหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม รวมไปถึงอาหารเสริมหลายชนิด โดยโพรไบโอติกในอาหารเหล่านี้จะมีความคล้ายคลึงกับจุลินทรีย์ที่พบได้ทั่วไปในร่างกายและตามธรรมชาติ
ประเภทของโพรไบโอติกส์ที่นิยมใช้
โพรไบโอติกส์ แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้
1. Lactobacillus
Lactobacillus เป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในระบบย่อยอาหาร ทางเดินปัสสาวะและอวัยวะเพศ โดยมีส่วนช่วยบรรเทาหรือป้องกันการติดเชื้อรา ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย และยังช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคลำไส้แปรปรวน ภาวะร่างกายพร่องเอนไซม์สำหรับย่อยนม และแพ้น้ำตาลแลคโตส ช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือความผิดปกติทางผิวหนังได้เป็นอย่างดี
2. Streptococcus Thermophilus
Streptococcus Thermophilus เป็นจุลินทรีย์ที่ช่วยสร้างแล็กเทส เอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในการย่อยสลายน้ำตาลแลคโตสที่มีอยู่ในน้ำนมหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับนม สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส

3. Bifidobacteria
Bifidobacteria เป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ พบได้มากถึง 30 สายพันธุ์ ส่วนมากจะพบในระบบทางเดินอาหารของทารก โดยเฉพาะทารกที่ดื่มนมมารดา จัดว่าเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายของทารกเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ช่วยบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน อาการปวดแน่นท้อง หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการย่อยอาหาร
4. Sacchamyces Boulardii
Sacchamyces Boulardii เป็นจุลินทรีย์ที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับยีสต์ มีหน้าที่ในการป้องกันและรักษาโรคท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะ
สำหรับอาหารที่สามารถพบไพรโบไอติกส์ประเภทเหล่านี้ได้ ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีรสเปรี้ยวหรือผ่านการหมักมาแล้ว เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เต้าเจี้ยว มิโซะ กิมจิ ถั่วเหลืองหมัก แตงกวาดอง กะหล่ำปลีดอง และขนมปังเปรี้ยว
ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์
ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ มีดังต่อไปนี้
- มีส่วนประกอบของกรดแลคติกที่จุลินทรีย์สร้างขึ้น เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดที่ก่อให้เกิดโรค
- ช่วยให้การทำงานของลำไส้เป็นไปอย่างสมบูรณ์
- ช่วยป้องกันอาการท้องผูก เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับอุจจาระ และทำให้สามารถขับถ่ายได้สะดวกมากขึ้น
- ช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอล ฟอสฟอลิพิด และไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
- ช่วยทำหน้าที่ในการผลิตเอนไซม์สำคัญในการย่อยอาหาร และยังช่วยย่อยให้โปรตีนมีขนาดเล็กลง ทำให้ระบบการดูดซึมอาหารภายในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารของทารก
- ช่วยลดอาการอักเสบของผิวหนัง
- ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย กระตุ้นการทำงานของต่อเนื่องให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
โพรไบโอติกส์ ถือเป็นจุลินทรีย์ชนิดดี ที่นิยมรับประทานเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพต่างๆ หากร่างกายมีปริมาณโพรไบโอติกส์ที่เพียงพอก็จะช่วยลดอัตราในการเกิดปัญหาสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะในระบบทางเดินอาหาร, ระบบภูมิคุ้มกัน, ระบบการย่อยอาหาร, ระบบการดูดซึมสารอาหาร ล้วนแต่จะได้ประโยชน์จากโพรไบโอติกส์ด้วยกันทั้งสิ้น