15 ธันวาคม 2565

วิตามินเอ (Vitamin A) เสริมสร้างการเจริญเติบโต ความแข็งแรงของกระดูกและระบบสืบพันธุ์

สารบัญเนื้อหา

วิตามิน (Vitamin A) คือวิตามินที่มีคุณสมบัติสามารถละลายได้ในไขมัน จึงจำเป็นต้องใช้ไขมันและแร่ธาตุต่างๆ เข้ามาช่วยในการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ถือเป็นวิตามินที่มีความจำเป็นต่อร่างกายอย่างมาก โดยมีคุณสมบัติช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และทำให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารได้

ประเภทของวิตามินเอ

วิตามินเอที่พบได้โดยทั่วไป มักมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทคือ

1. วิตามินเอแบบสำเร็จรูป

วิตามินเอสำเร็จรูป เป็นวิตามินที่สามารถพบได้ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เช่น ตับ น้ำมันตับปลา ไข่แดงและผลิตภัณฑ์จากนม

2. เบต้าแคโรทีน

เบต้าแคโรทีน ถือเป็นสารอาหารที่เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะมีการแปรสภาพสารชนิดนี้ให้กลายเป็นวิตามินเอ โดยสามารถพบได้ผักสีเหลืองและสีเขียวเข้ม เช่น ผักโขม บร็อคโคลี่ มะละกอสุก มะม่วงสุก อินทผาลัม คะน้า และตำลึง เป็นต้น

วิตามินเอกับการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย

หากกินอาหารที่มีเบต้าแคโรทีน ระบบกลไกต่างๆ ก็จะเริ่มทำงานตามกระบวนการย่อยอาหาร และเริ่มดูดซึมสารนี้จากในบริเวณลำไส้ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำย่อยสำหรับใช้แตกตัวไขมัน และเกลือน้ำดีจะเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนไปอยู่ในรูปของวิตามินเอ โดยได้ไทรอกซินมาเป็นตัวช่วยในการลำเลียงสารเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อนำไปใช้ในส่วนต่างๆ ของร่างกายต่อไป ร่างกายจะสามารถดูดซึมวิตามินเอได้มากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างกรดไขมันจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ว่ามีปริมาณเพียงพอต่อการดูดซึมวิตามินเอหรือไม่ หากรับประทานเข้าไปปริมาณมากก็จะช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินเอได้ดีขึ้น

แหล่งอาหารที่มีวิตามินเอ

แหล่งอาหารที่สามารถพบวิตามินเอได้ในปริมาณมากก็คือ ผักและผลไม้ที่มีสีเหลือง ส้ม แดง และเขียวเข้ม โดยผัก-ผลไม้เหล่านี้จะมีเบต้าแคโรทีนและแคโรทีนอยด์ ที่เมื่อร่างกายได้รับแล้วก็จะเปลี่ยนไปเป็นวิตามินเอ ดังนั้น หากต้องการได้รับวิตามินเอในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกาย ควรรับประทานผักและผลไม้สด หากต้องนำไปต้ม จำเป็นต้องปิดฝาภาชนะขณะต้มและใส่น้ำน้อยๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียวิตามิน นอกจากนี้วิตามินเอ ยังสามารถพบได้มากในน้ำนม เนย เนยแข็ง ตับ และน้ำมันตับปลาอีกด้วย

ประโยชน์ของวิตามินเอ

ประโยชน์ของวิตามินเอ มีดีต่อสุขภาพร่างกายหลายประการ ดังนี้

  1. ป้องกันโรคตาบอดกลางคืน และโรคตาฟาง
  2. เพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น บำรุงสายตาให้การมองเห็นดีขึ้น โดยเฉพาะในที่มืดหรือช่วงเวลากลางคืน
  3. ป้องกันเยื่อบุนัยน์ตาแห้ง
  4. เสริมสร้างภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อในทางเดินหายใจ
  5. เพิ่มระบบภูมิคุ้นกันในร่างกายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  6. ช่วยย่นระยะเวลาการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ
  7. บำรุงรักษาเซลล์ชนิดบุผิว เช่น เยื่อบุตาขาว เยื่อบุช่องปาก เชื่อบุทางเดินอาหาร และเยื่อบุทางเดินหายใจ
  8. บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง ชุ่มชื้น ไม่หยาบกร้าน และลดจุดด่างต่างๆ บริเวณผิวหนัง
  9. ป้องกันผิวแตกลายงาในคุณแม่หลังตั้งครรภ์
  10. รักษาสิว ป้องกันสิว แผลจากสิว และสิวอักเสบ
  11. ป้องกันโรคถุงลมโป่งพองและไทรอยด์เป็นพิษ
  12. ส่งเสริมกระดูกให้มีความแข็งแรงมากขึ้น และป้องกันโรคกระดูกพรุน
  13. ส่งเสริมการทำงานของระบบสืบพันธุ์
  14. ส่งเสริมระบบการทำงานของประจำเดือนให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์
  15. ช่วยสร้างอสุจิในเพศชาย
  16. ต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันอัตราความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง
  17. ช่วยพัฒนาโครงสร้างและส่งเสริมการเจริญเติบโตในเด็ก
  18. ลดความเสี่ยงในการแท้งลูกหรือป้องกันความพิการของลูก

โรคต่างๆ ในผู้ที่ขาดวิตามินเอ

ส่วนใหญ่จะพบภาวะการขาดวิตามินเอมากในเด็ก โดยสาเหตุส่วนใหญ่นั้นมาจากการที่ร่างกายของเด็กขาดปริมาณของสารอาหารที่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ไม่รับประทานผักและผลไม้ นอกจากนี้ ในผู้ใหญ่บางรายก็พบภาวะขาดวิตามินเอได้ด้วยเช่นกัน สืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการรับประทานที่ไม่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งขาดวิตามินเอโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น ผู้ป่วยโรคท้องร่วงเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบและท่อน้ำดีอุดตัน เมื่อร่างกายไม่ได้รับวิตามินเอในปริมาณที่เพียงพอ ก็จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ดังนี้

  1. เยื่อบุนัยน์ตาแห้ง โดยอาจพบเมือกเหนียวในดวงตา หรือบริเวณรอบดวงตา เกิดความระคายเคือง จนส่งผลให้ตาขาวเกิดรอยย่น
  2. วุ้นในตา อาการนี้พบบ่อยหลังจากเยื่อบุนัยนตาแห้งไปแล้ว โดยจะมีอาการตาขาวขุ่น เหลว เนื่องจากดวงตาติดเชื้อ และไวต่ออาการตาแห้ง หากพบอาการเหล่านี้ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน
  3. มองไม่เห็นในที่แสงน้อย อาการนี้มีอีกชื่อคือ อาการตาบอดสีในเวลากลางคืน ทำให้สายตามองได้ไม่คมชัดเท่าเวลากลางวัน เพราะสายตาไม่สามารถปรับให้เข้ากับความมืดได้
  4. ภูมิต้านทานต่ำ เมื่อร่างกายขาดวิตามินเอ ระบบภูมิต้านทานในร่างกายก็จะต่ำลง จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ อาการอักเสบบริเวณต่างๆ ในช่องปาก โพรงจมูก ลำคอ หรือบริเวณต่อมน้ำลาย อีกทั้งยังสามารถเปิดโอกาสให้เชื้อไวรัสให้เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย จึงทำให้เป็นหวัดง่ายไปด้วย
  5. โรคผิวหนัง เมื่อขาดวิตามินเอเป็นเวลานาน ผิวพรรณที่เคยเปล่งปลั่งสดใส ก็จะหยาบกร้านมากขึ้น และนำไปสู่โรคผิวหนังได้

วิตามินเอ มาพร้อมสรรพคุณมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนั้น จึงควรรับประทานวิตามินเอให้เพียงพอต่อปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน เพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยสามารถหารับประทานได้จากผักและผลไม้สีเหลือง ส้ม แดง และเขียวเข้ม รวมถึงเนื้อสัตว์บางชนิด อีกทั้งควรรับประทานตั้งแต่ยังเด็กเพื่อให้ร่างกายเกิดภูมิต้านทานที่แข็งแรง เป็นรากฐานสำคัญเพื่อช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตที่เหมาะสม เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่แล้ว ก็จะช่วยให้ร่างกายห่างไกลจากโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

บทความแนะนำ