14 ธันวาคม 2565

กรดยูริค ของเสียของร่างกาย พบมากในเครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก และพืชผักบางชนิด

สารบัญเนื้อหา

กรดยูริค (Uric acid) คือ ของเสียอย่างหนึ่งของร่างกาย เมื่อร่างกายผ่านกระบวนการเผาผลาญสารพิวรีน หากสารเหล่านี้มีปริมาณมากเกินไป ร่างกายไม่สามารถขับออกไปได้ทัน จะเกิดการสะสมกรดยูริคไว้ตามข้อต่อต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักๆ ของการเกิดโรคเก๊าท์ โดยปริมาณสัดส่วนของกรดยูริกที่มีทั้งหมด สามารถแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ส่วนที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเอง 80% 2) ส่วนที่ได้รับเข้ามาในร่างกายจากการทานอาหาร 20% โดยอาหารที่สามารถพบสารพิวรีนที่เป็นตัวก่อให้เกิดกรดยูริก ได้แก่ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์จำพวกสัตว์ปีก พืชผักบางชนิด และอาหารทะเลบางชนิด

ร่างกายมีการกำจัดกรดยูริกอย่างไร

โดยปกติแล้ว ร่างกายไม่ควรมีกรดยูริกเกินระดับที่กำหนด โดยในเพศชาย ไม่ควรมีกรดยูริกในเลือดมากกว่า 8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และในเพศหญิง ไม่ควรมีมากกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ดังนั้นเมื่อร่างกายสร้างหรือได้รับกรดยูริคเกินความจำเป็น ก็จะมีการขับกรดยูริคออกไปทางปัสสาวะ แต่ในกลุ่มคนบางประเภทที่ไม่สามารถขับกรดยูริคออกไปจากร่างกายได้หมด จะเกิดการสะสมไว้บริเวณข้อต่อต่างๆ บริเวณผนังหลอดเลือด และไต เมื่อเวลาผ่านไปจนกรดยูริคสะสมเป็นตะกอนมากๆ ก็จะทำให้เกิดโรคเก๊าท์ หรือโรคนิ่วในไตได้

โรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์เป็นโรคที่เกิดได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง มักเกิดที่ปลายของรยางค์แขนหรือขาก่อนส่วนอื่นๆ เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายมีกรดยูริคในเลือดมากเกินปกติ และเกิดการสะสมของผลึกกรดยูริกในข้อต่อ ก่อให้เกิดการกระตุ้นกระบวนการภูมิคุ้มกันในร่างกาย และเกิดการอักเสบ มีอาการปวดและบวมบริเวณข้อต่อนั้นๆ นอกจากนี้อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างข้อต่ออีกด้วย

นิ่วในไต

เมื่อมีการสะสมของกรดยูริกและร่างกายไม่สามารถขับสารเหล่านี้ออกไปได้หมด จะเกิดการสะสมที่ไตมากเกินไป และเกิดการตกผลึกจับตัวกันเป็นก้อนอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดและทำให้ระบบขับถ่ายเกิดความผิดปกติได้ ซึ่งจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนนิ่วออกเท่านั้น

อย่างไรก็ตามโรคนิ่วในไตเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้อีก ดังนั้นควรดูแลตัวเองให้ดีขึ้นและปรับเปลี่ยนในเรื่องของการรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในไต นอกจากนี้ผู้ป่วยที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นนิ่วในไตมาก่อน ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษด้วย

อาหารที่มีสารพิวรีนสูง

  1. อาหารในกลุ่มเครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ตับอ่อนไส้ สมอง กึ๋นไก่ ม้าม หัวใจ เซ่งจี้(หมู)
  2. สัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ ห่าน
  3. ผักและธัญพืช เช่น ถั่วแดง กระถิน ถั่วเหลือง ชะอม เห็ด ถั่วเขียว
  4. กลุ่มปลา เช่น ปลาไส้ตัน ปลาขนาดเล็กต่างๆ ปลาดุก ปลาซาดีนกระป๋อง

อันตรายจากกรดยูริก

กรดยูริกถือได้ว่าเป็นของเสียที่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดมาจากการย่อยสลายของสารพิวรีน (Purines) ในร่างกาย โดยสารพิวรีน เป็นสารโมเลกุลเล็กที่ถูกย่อยมาจากโปรตีนที่เข้าไปในร่างกาย ซึ่งโดยปกติแล้วในร่างกายควรจะต้องมีกรดยูริกอยู่ในช่วงไม่เกิน 2.3-7.1 มิลลิกรัม ต่อเลือด 100 มิลลิลิตร ถ้าหากเกิดความผิดปกติกับกระบวนการย่อยโปรตีนจะทำให้เกิดการสร้างกรดยูริคเพิ่มมากกว่าปกติ และส่งผลทำให้เกิดอันตรายกับอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงอาจทำให้เกิดโรคเรื้อรัง/โรคร้ายแรงตามมาในอนาคต โดยอาการที่สามารถเห็นได้ชัดจากการที่ร่ายกายมีการสะสมกรดยูริคมากเกินไป คือ หูอื้อ ได้ยินเสียงดังในหู เวียนศีรษะ อาการบ้านหมุน เนื่องจากเส้นเลือดเกิดการหดตัวเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับหูและการทรงตัว

กรดยูริกแม้จะเป็นของเสียที่ก่อให้เกิดผลร้ายกับร่างกาย แต่ถ้าหากควบคุมดูแลระดับของกรดยูริคให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ร่างกายก็จะไม่มีความผิดปกติใดๆ หรือเกิดโรคร้ายแรงใดๆ ดังนั้นทุกคนควรมีการตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมดูแลระดับของกรดยูริคให้อยู่เกณฑ์ปกติด้วย โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตัวเอง และการเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ก็จะลดความเสี่ยงจากภาวะกรดยูริกเกินได้

บทความแนะนำ